ประวัติสังฆมณฑล

สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานีแม้เราไม่ทราบแน่ชัดว่าที่บ้านดอน (อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี) เริ่มมีคริสตชนมาตั้งรกรากอยู่ตั้งแต่เมื่อใด แต่จากหลักฐานเท่าที่มีอยู่ทำให้เราพอเข้าใจว่า อย่างน้อยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1935 พระเจ้าทรงโปรดให้คริสตชนที่อยู่ในดินแดนห่างไกลนี้ได้รับการ “เยี่ยมเยียน” และ “เอาใจใส่” จากบรรดามิชชันนารีของพระองค์ และแม้ว่าคริสตชนที่บ้านดอนในขณะนั้น ยังเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ไม่มีวัด และไม่มีพระสงฆ์ประจำ แต่เมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่อที่บรรดามิชชันนารีปลูกฝัง และหล่อเลี้ยง                                                                                   ก็ค่อยๆ ฝังรากลึกลงทีละน้อยๆ

นับเป็นเวลาเกือบ 25 ปี ที่กลุ่มคริสตชนแห่งนี้ค่อยเติบใหญ่ขึ้นทีละน้อย จากการที่มีบรรดามิสชันนารี แวะเวียน ผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมเยียน ดูแล เอาใจใส่ โปรดศีลศักดิิ์สิทธิ์ และประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ ดังนี้เองแม้ในท่ามกลางความยากลำบากในงานอภิบาลแพร่ธรรม ไม่ว่าจะเป็นหนทางที่ยาวไกล ทุรกันดาร วัฒนธรรม และภาษาที่แตกต่าง แต่ด้วยการเสียสละ อุทิศตนของบรรดามิชชันนารี พระเจ้าทรงทำให้เมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่อในที่แห่งนี้ ค่อยๆ หยั่งรากลงอย่างลึกซึ้ง และค่อยๆเติบใหญ่เป็นต้นไม้ใหญ่ที่ลงหลักปักฐานอย่างสง่างาม ในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย

ดูเหมือนว่า พระเจ้าทรงค่อยๆ เปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์ ผ่านทางวิสัยทัศน์อันยาวไกลของพระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต (ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประมุขแห่งสังฆมณฑลราชบุรี) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1958 บ้านพักพระสงฆ์และโรงเรียนหลังแรก (โรงเรียนเทพมิตรศึกษาปัจจุบัน) พร้อมกับที่ดิน เพื่อสร้างวัด จึงก่อกำเนิดขึ้น ด้วยความริเริ่มของพระคุณเจ้า พร้อมกับความประสงค์ของผู้สมทบเงินก้อนใหญ่ก้อนแรกสำหรับการซื้อที่ดิน เพื่อให้วัดที่จะสร้างนี้เป็นการถวายเกียรติแด่อัครเทวดาราฟาเอล และจากนั้นในปี ค.ศ. 1959 คุณพ่อเฮกเตอร์ ฟรีเยรีโอ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกเพื่อดูแลสัตบุรุษที่บ้านดอนและในที่สุด วันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1961 จึงมีการวางศิลาฤกษ์ สำหรับการสร้างวัดอัครเทวดาราฟาเอล และในปี ค.ศ. 1962 จึงเป็นปีแรก ที่กลุ่มคริสตชนบ้านดอน มีวัดหลังแรก ถวายแด่อัครเทวดาราฟาเอล

พระประสงค์ของพระเจ้าค่อยๆ เห็นเป็นรูปร่างและเด่นชัดขึ้น เมื่อในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 สำนักวาติกัน   มีสารถึงประเทศไทยแจ้งว่า สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ทรงรับสั่งให้แยกเขตปกครองของสังฆมณฑล สุราษฎร์ธานี ออกจากสังฆมณฑลราชบุรี โดยมีอาณาเขตตั้งแต่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงไปจนสุดเขตแดนภาคใต้ รวม 15 จังหวัด ในเวลาเดียวกันพระสันตะปาปาทรงรับสั่งให้ พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต (Pietro Carretto) ย้ายไปเป็นประมุขปกครองสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 14 กันยายน 1969 ท่ามกลางบรรดาพระสงฆ์ ซิสเตอร์ สัตบุรุษ จำนวนมาก พระสังฆราชเปโตร คาร์เรตโต ได้รับสถาปนาเป็นพระสังฆราชองค์แรกของ สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี

ศูนย์กลางของสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานีเดิม ตั้งอยู่ในบริเวณของโรงเรียนเทพมิตรศึกษา บ้านเลขที่ 317          ถ.ตลาด ใหม่ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี 84000 สังฆมณฑลสุราษฎร์ฯ ยาวประมาณ 1,160 กิโลเมตร จากหัวหิน ถึง สุไหงโกลก มีเนื้อที่ 76,562 ตารางกิโลเมตรและในตอนนั้นมีจำนวนคริสตชนประมาณ 4,500 คน สำนักพระสังฆราช ถูกสร้างขึ้นในบริเวณของ โรงเรียนเทพมิตรศึกษา จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี ค.ศ. 1959 และกลายเป็นศูนย์สังฆมณฑลฯ ในเวลาต่อมา

จากนั้น นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 เมื่อพระสังฆราชไมเคิล ประพนธ์ ชัยเจริญ ได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขของสังฆมณฑลสืบต่อจากพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ท่านได้สานต่อความริเริ่มของพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ในการทำให้อาสนวิหารอัครเทวดาราฟาเอลเป็นจุดศุนย์กลางของงานอภิบาลด้านพระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์ของสังฆมณฑลอย่างแท้จริง ศูนย์อภิบาลหลังแรกที่ท่านได้ก่อตั้งขึ้น “อาคารแพร่ธรรม”สร้างขึ้นในบริเวณโรงเรียนเทพมิตรศึกษา จ.สุราษฎร์ฯ ถูกใช้เป็นสถานที่อบรมสัมมนาระดับสังฆมณฑล ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 นับเป็นการวางรากฐานสู่การสร้างความเข้มแข็งให้คริสตชนกลุ่มย่อยในสังฆมณฑล โดยอาศัยพระวาจาของพระเจ้า และศีลศักสิทธิ์ ทำให้เมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่อที่มิชชันนารีได้เพาะหว่านลงในเนื้อนาของสังฆมณฑล ค่อยๆ บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เกิดเป็นกลุ่มคริสตชนใหญ่น้อยที่ได้รับการหลล่อเลี้ยงด้วยพระวาจาของพระเจ้า และศีลศักดิ์สิทธิ์      ด้วยแนวคิดหลักคือการสร้างกลุ่มคริสตชนย่อยด้วยวาจาของพระเจ้า ที่ค่อยๆ พัฒนาเติบใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ

ศูนย์อภิบาลคริสตชน “บ้านชุมพาบาล” ได้สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1999 ซึ่งให้ บริการงานอภิบาลระดับสังฆมณฑลอย่างครบวงจร ทั้งสำนักพระสังฆราช สถานที่จัดอบรมสัมมนา สำนักงานของมูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี

และนับตั้งแต่ที่พระสังฆราชโยเซฟ ประธาน ศรีดารุณศีล รับตำแหน่งพระสังฆราช ปลายปี 2004 จนถึงปัจจุบัน พระวาจาของพระเจ้าได้เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ท่านนำมาใช้ในการสานต่อภารกิจการสร้างสังฆมณฑลสู่ความเป็นหนึ่งเดียว ด้วยการออกประกาศพระวาจาของพระเจ้าอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยด้วยวิธีการ Lectio Divina

29 กันยายน ค.ศ.2012 ได้เปิด-เสกอาสนวิหารราฟาเอลหลังใหม่ ไม่ใช่เป็นเพียงการสร้างอาสนวิหารหลังใหม่แทนที่หลังเก่าที่ชำรุดเกินจะบูรณะได้เท่านั้น แต่กลับเป็นเครื่องหมายของการก้าวสู่ยุคใหม่ของสังฆมณฑล โดยอาศัยพระวาจาอันทรงพลังของพระเจ้า ที่ค่อยๆรวบรวมหยาดเหงื่อ แรงงาน และหล่อหลอมหัวใจของคริสตชนทุกคนในสังฆมณฑลให้เป็นหนึ่งเดียวกัน